Last updated: 15 พ.ค. 2566 | 1653 จำนวนผู้เข้าชม |
แผลเป็นมีกี่ชนิด
แผลเป็นหลังเกิดบาดแผลมีหลายรูปแบบแต่แผลเป็นที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการรักษาแผลตามธรรมชาติแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ
1. แผลเป็นที่โตนูน (hypertrophic scar / keloid)
2. แผลเป็นที่ลึกบุ๋ม (depressed scar)
3. แผลเป็นที่มีการหดรั้ง (scar constracture)
แผลคีลอยด์คืออะไร
คีลอยด์ (keloid) คือ แผลเป็นโตนูนชนิดหนึ่งที่มีลักษณะนูนเงาและขยายใหญ่กว่าขอบเขตของรอยแผลที่เกิดขึ้น ในช่วงแรกจะปรากฏเป็นสีแดงแล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือซีดลง โดยอาจเกิดขึ้นทันทีที่แผลหายหรือหลังจากที่แผลหายดีแล้วเป็นเดือนหรือเป็นปี บางรายอาจมีอาการเจ็บหรือคัน หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาก็จะยิ่งขยายใหญ่มากขึ้น พบได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่พบว่ามักจะเกิดในผู้ที่มีผิวเข้มและพบในวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ และการเกิดแผลคีลอยด์อาจมีแนวโน้มมาจากพันธุกรรม
ทำไมถึงเกิดเป็นแผลคีลอยด์
สาเหตุของการเกิดแผลคีลอยด์เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการรักษาแผลตามธรรมชาติทำให้เกิดภาวะเนื้อเยื่อเจริญเติบโตและมีการสร้างคอลลาเจนมากกว่าปกติทำให้เกิดเป็นเนื้อนูนหนาขึ้นหลังจากที่แผลนั้นหายดีแล้วหรืออาจมีสาเหตุเกิดจากการเป็นสิวอักเสบการฉีดวัคซีนหรือการปลูกฝีการผ่าตัดแผลจากอีสุกอีใสแผลจากอุบัติเหตุแผลไฟไหม้แผลจากการสักหรือการลบรอยสักการเจาะหูโดยเฉพาะบริเวณกระดูกอ่อนก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดคีลอยด์ได้บ่อย
โดยทั่วไปคีลอยด์สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกายและมักพบบริเวณหน้าอกหัวไหล่หลังด้านบนลำคอแนวกรามและใบหู
วิธีรักษาแผลคีลอยด์
1. การฉีดยาด้วยยาสเตียรอยด์ จะช่วยลดการอักเสบของการเกิดเป็นแผลเป็นนูนหรือแผลคีลอยด์ได้ โดยฉีดยาเข้าไปในแผลเป็นโดยตรง ควรฉีดแผลเป็นในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีหลังเกิดบาดแผล และฉีดต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้งจนกว่าแผลเป็นจะดีขึ้น
2. การผ่าตัดแผลคีลอยด์ สามารถรักษาได้ในกรณีที่เป็นแผลเป็นนูนหรือแผลคีลอยด์ ซึ่งทำได้เฉพาะในบางกรณีและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
3. การรักษาด้วยการฉายรังสี
4. การใช้เลเซอร์ เช่น Fractional CO2
5. การใช้แผ่นซิลิโคนลดแผลเป็น
6. การใช้ยาทาทั้งแบบครีมและแบบเจล
7. การใช้ความเย็นจัดในการรักษา
ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนอีกครั้ง จะดีที่สุด
การป้องกันการเกิดแผลคีลอยด์
1. ดูแลรักษาแผลให้มีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา ในช่วงเดือนแรกของกระบวนการซ่อมแซมผิวหนัง การที่แผลมีความชุ่มชื้นตลอดเวลาจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และช่วยลดโอกาสการเกิดแผลเป็นได้
2. หลีกเลี่ยงแสงแดด เนื่องจากผิวบริเวณที่เป็นแผลจะมีความบอบบางมากกว่าปกติ การโดนแสงแดดอาจทำให้มีสีคล้ำชัดเจนขึ้น
3. หลีกเลี่ยงการขยับหรือเคลื่อนไหวบริเวณที่เกิดแผล เนื่องจากการการขยับหรือเคลื่อนไหวจะส่งผลให้เนื้อเยื่อที่เป็นแผลถูกรบกวนกระบวนการซ่อมแซมตนเองและก่อให้เกิดแผลเป็นได้ง่ายขึ้น
แผลคีลอยด์มักจะไม่ยุบหรือหายไปเองจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่จำเพาะซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายวิธีโดยแต่ละวิธีมีขั้นตอนและใช้ระยะเวลาต่างกันการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาวิธีการรักษาที่เหมาะสมจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหากสังเกตว่าตนเองมีแนวโน้มจะเกิดแผลเป็นขึ้นหลังจากบาดแผลหายหรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นแผลคีลอยด์ควรรีบรักษาทันทีเพื่อให้บาดแผลหายเร็วขึ้นและมีโอกาสเกิดแผลเป็นน้อยลง